รถไฟในประเทศไทย แบ่งการให้บริการ ดังนี้
รถไฟ จะแบ่งประเภทของตู้รถไฟเป็นชั้นบริการต่างๆ ได้แก่ รถนอนชั้น 1 รถนอนชั้น 2 รถนั่งชั้น 2 และ รถนั่งชั้น 3 ซึ่งประกอบด้วยตู้โบกี้ปรับอากาศ และตู้โบกี้พัดลม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้เลือกจองตั๋วตามที่ต้องการ
การเดินทางด้วยรถไฟในประเทศไทย
เส้นทางรถไฟในประเทศไทยมี สถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ เป็นสถานีรถไฟต้นทางของทุกเส้นทาง
เส้นทางรถไฟในประเทศไทยได้แบ่งออก 4 เส้นทาง ดังนี้
ทางรถไฟสายเหนือ รถไฟสายหลักให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ, อยุธยา, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ลำปาง, ลำพูนและเชียงใหม่
ทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ รถไฟสายหนองคาย ให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ, นครราชสีมา, ขอนแก่น, อุดรธานี, และหนองคาย และรถไฟสายอุบลราชธานี ให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, และอุบลราชธานี
ทางรถไฟสายตะวันออก รถไฟสายบ้านพลูตาหลวง ให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ, ชลบุรี, และพัทยา และ รถไฟสายอรัญประเทศ ให้บริการเส้นทาง กรุงเทพฯ, ปราจีนบุรี, กบินทร์บุรี, สระแก้ว, และอรัญประเทศ
ทางรถไฟสายใต้
รถไฟสายหลัก ให้บริการเส้นทางจาก กรุงเทพฯ, หัวหิน, ชุมพร, สุราษฎร์ธานี, หาดใหญ่ และสุไหงโกลก
รถไฟสายกันตัง แยกจากสายหลักที่ชุมทางทุ่งสง มุ่งสู่ตรังและกันตัง
รถไฟสายนครศรีธรรมราช แยกจากสายหลักที่ชุมทางทุ่งสง มุ่งสู่สถานีรถไฟนครศรีธรรมราช
รถไฟสายปาดังเบซาร์ แยกจากสถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ ไปยังสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟมาเลเซีย
ภาคเหนือ
เส้นทางรถไฟสายเหนือ เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ กับจังหวัดในภาคเหนือของประเทศไทย
โดยรถไฟออกจากสถานีหัวลำโพง กรุงเทพฯ มุ่งสู่ปลายทางจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านจังหวัด อยุธยา, นครสวรรค์, พิษณุโลก, ลำปาง, และลำพูน
ขบวนรถด่วนพิเศษ “อุตราวิถี” กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เลขที่ 9 เป็นขบวนตู้รถนอนที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปลายทางเชียงใหม่ โดยเป็นรถนอนปรับอากาศชั้น 1 และ รถนอนปรับอากาศชั้น 2
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ในภาคอีสาน
รถไฟออกจากสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ ถึงสถานีรถไฟนครราชสีมา และแบ่งเป็นสองสายที่ชุมทางถนนจิระ ได้แก่สายหนองคาย วิ่งผ่านจังหวัดขอนแก่น, อุดรธานี, สู่หนองคาย และสายอุบลราชธานี วิ่งผ่านจังหวัดบุรีรัมย์, สุรินทร์,ศรีสะเกษ, สู่อุบลราชธานี
ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานวัฒนา เลขที่ 23 และ ขบวนรถด่วน เลขที่ 67 เป็นขบวนที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปลายทางอุบลราชธานี โดยให้บริการเป็นตู้รถนอนปรับอากาศชั้น 1 และ รถนอนปรับอากาศชั้น 2
ขบวนรถด่วนพิเศษอีสานมรรคา เลขที่ 25 เป็นขบวนตู้รถนอนที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปลายทางหนองคาย โดยเป็นรถนอนปรับอากาศชั้น 1 และ รถนอนปรับอากาศชั้น 2
ภาคใต้
เส้นทางรถไฟสายใต้ เชื่อมระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ในภาคใต้ โดยมีปลายทางที่สถานีรถไฟสุไหงโกลก จ.นราธิวาส เป็นสถานีรถไฟสุดท้ายของเส้นทางนี้
ขบวนรถด่วนพิเศษทักษิณารัถย์ เลขที่ 31 เป็นขบวนที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้เดินทางจากกรุงเทพฯ สู่ปลายทางหาดใหญ่ โดยให้บริการเป็นตู้รถนอนปรับอากาศชั้น 1 และ รถนอนปรับอากาศชั้น 2